ความหมายและความสำคัญ
คณะรัฐมนตรี ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง คณะบุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อทําหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน. [1]
รัฐมนตรี ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ผู้เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรี หรือ คณะรัฐบาล รับผิดชอบร่วมกับ คณะรัฐมนตรีในนโยบายทั่วไปของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน, ถ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือทบวง ก็เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกระทรวงหรือทบวงที่ตนว่าการ และรับผิดชอบในการบริหารราชการกระทรวงหรือทบวงนั้นด้วยอีกฐานะหนึ่ง (คำว่ารัฐมนตรีนี้ในสมัยโบราณ หมายถึง ที่ปรึกษาราชการบ้านเมืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์). [2] รัฐมนตรี (Minister) ของกระทรวงต่างๆนี้ เมื่อได้รับการแต่งตั้งครบทุกกระทรวงตามจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินร่วมกันนี้ในฐานะผู้นำในการบริหารประเทศ ก็จะเรียกรวมกันว่าเป็น คณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรี (Cabinet) จึงเป็นคณะบุคคลที่ประกอบด้วยบุคคลผู้มีตำแหน่งต่างๆกันหลายคน มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา[3] ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย อันประกอบด้วย หัวหน้าคณะ 1 คน ซึ่งมักเรียกว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่น ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะ มีอำนาจเรียกประชุม กำหนดเรื่องที่จะประชุม เป็นประธานในที่ประชุม และขอมติจากที่ประชุม ตลอดจนบังคับบัญชา หรือสั่งการในเรื่องต่างๆ
องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญในอดีตกำหนดจำนวนรัฐมนตรีไว้แตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา171 ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน รวมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะไม่เกิน 36 คน[4] คณะรัฐมนตรีในที่นี้ อาจประกอบด้วย รัฐมนตรีประเภทต่างๆได้แก่ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีว่าการทบวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง[5] ซึ่งจะมีจำนวนมากน้อยเท่าใดก็ได้ แต่จำนวนรวมกันต้องไม่เกินจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด (กรณีที่ แต่งตั้งบุคคลคนเดียวให้ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง จะยึดจำนวนคนเป็นหลักไม่ใช่นับตามตำแหน่ง เช่น เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะนับว่าเท่ากับคนเดียว)
ความสำคัญของคณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้ที่มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งมีอำนาจสูงสุดในแต่ละหน่วยงาน จึงอาจสรุปว่า คณะรัฐมนตรีมีความสำคัญใน 3 ด้าน[6] คือ
1. ด้านกฎหมาย โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเป็นผู้ใช้กฎหมายโดยตรง และเป็นผู้เสนอกฎหมายต่างๆเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารกิจการราชการต่างๆของประเทศให้เป็นไปโดยราบรื่น
2. ด้านนโยบายการเมือง[7] คณะรัฐมนตรีนั้นเป็นองค์กรสูงสุดที่มีกำหนดนโยบายทั้งระดับภายในและภายนอกประเทศ โดยภายในประเทศเป็นผู้กำหนดการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง ส่วนภายนอกประเทศมีอำนาจกระทำการผูกพันในฐานะตัวแทนของรัฐหรือประเทศและมีผลผูกพัน
3. ด้านอำนาจ ถือเป็นองค์กรที่มีอำนาจทางด้านการบริหาร ซึ่งมีอำนาจกำหนดนโยบายต่างๆซึ่งเท่ากับเป็นการกำหนดทิศทางของประเทศ และยังมีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการข้าราชการซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาในทุกระดับทั่วประเทศ ดังนั้นอำนาจที่มากมายเหล่านี้ย่อมกระทบต่อประชาชนโดยรวมอย่างกว้างขวาง ผู้ใช้อำนาจจึงควรใช้อำนาจด้วยความเป็นธรรม ตามหลัก ธรรมาภิบาล
คณะรัฐมนตรีนั้น กฎหมายถือว่า เป็นข้าราชการประเภทหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็น "ข้าราชการการเมือง" ซึ่งเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุทางการเมือง จะต่างจากข้าราชการประจำทั่วๆไป ดังนั้น คำว่า "คณะรัฐมนตรี" เป็นคำที่ใช้ ในกฎหมาย มุ่งหมายถึงเฉพาะข้าราชการการเมืองผู้มีตำแหน่งรัฐมนตรีดังกล่าว ตรงกับที่ใช้ในภาษาอังกฤษว่า "Council of Ministers" หรือ "Cabinet" ยังมีอีกคำหนึ่งที่ใช้ควบคู่กันคือคำว่า "รัฐบาล" หรือ "Government" ในบางครั้งคณะรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ บางครั้ง คำว่ารัฐบาลอาจมีความหมายกว้างกว่านั้น เพราะอาจรวมไปถึงข้าราชการประจำและเจ้าหน้าที่ทั้งหลายของฝ่ายบริหาร อีกด้วย เพื่อแยกให้ เห็นว่า เป็นคนละฝ่ายกับภาคเอกชน และคนละฝ่ายกับสมาชิกรัฐสภา[8] จึงอาจกล่าวได้ว่านายกรัฐมนตรีอยู่ในฐานะที่เป็นทั้งหัวหน้าของคณะรัฐมนตรีและหัวหน้ารัฐบาลไปพร้อมๆกัน
ประวัติความเป็นมาของคณะรัฐมนตรี
ในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีที่มาจากคณะเสนาบดีในอดีต ตั้งแต่สมัยอยุธยาเริ่มมีเสนาบดีเวียง วัง คลัง นา รับผิดชอบแต่ละฝ่าย และยังมีเสนาบดีเรื่อยมาจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้แนวคิดเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ได้ถูกเสนอขึ้นมาเป็นครั้งแรกในช่วง ปี รศ.103 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าสภาพบ้านเมืองขณะนั้นยังไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเต็มรูปแบบ แต่ก็ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองบ้านเมืองใหม่ครั้งใหญ่ โดยทรงจัดตั้งกระทรวงต่างๆขึ้น มีเสนาบดีเป็นหัวหน้ากระทรวง ทำหน้าที่ในลักษณะของคณะรัฐมนตรีแต่พระมหากษัตริย์ยังคงทรงเป็นประธาน[9] โดยระบบคณะเสนาบดีนี้ได้ดำเนินมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภา เพื่อทำหน้าที่ถวายคำปรึกษา แต่แนวคิดเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีก็ยังคงมีอยู่ดังปรากฎในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับของพระยากัลยาณไมตรี มาตรา 3-5[10] ซึ่งได้ถูกคัดค้านและไม่มีการนำมาปฏิบัติจริง อย่างไรก็ตามอาจสรุปได้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์โดยตรง[11] แม้บางครั้งจะมีคณะบุคคลร่วมทำงานในการเป็นที่ปรึกษาต่างๆ หรือช่วยบริหารงานราชการกระทรวงต่างๆก็ตาม
คณะรัฐมนตรีเต็มรูปแบบในระบบรัฐสภาคณะแรกของไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เดิมนั้นใช้ชื่อว่า คณะกรรมการราษฎร เกิดขึ้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้ใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 โดยสภาผู้แทนราษฎรได้เลือก มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร จากนั้นประธานคณะกรรมการราษฎรจึงได้เสนอชื่อคณะกรรมการราษฎรให้สภาอนุมัติซึ่งคณะกรรมการราษฎรนี้ไม่มีการแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภา โดยถือเอาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเป็นนโยบายของรัฐบาล ในระหว่างที่ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทักท้วงว่าการใช้คำว่า "กรรมการราษฎร" แทน "Minister" หรือ "เสนาบดี"ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ทรงเห็นว่าไม่ไพเราะและ ไม่ค่อยถูกต้องนัก[12] เพราะฟังดูเป็นโซเวียต ในรัฐสภาจึงถกเถียงกันในเรื่องนี้อย่างมาก และที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติให้ใช้คำว่า “รัฐมนตรี” แทน “กรรมการราษฎร” และใช้คำว่า “นายกรัฐมนตรี” แทน “ประธานคณะกรรมการราษฎร” และคำว่า “คณะรัฐมนตรี” แทนคำว่า “คณะกรรมการราษฎร” ซึ่งคำว่าคณะรัฐมนตรีหมายถึง “ข้าราชการผู้ใหญ่ในแผ่นดิน” มิใช่ที่ปรึกษาของแผ่นดินอีกต่อไป[13] และประกาศ ใช้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 นับแต่นั้นมา[14] ปัจจุบันประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 59 คณะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น